Thursday, 2 May 2024
สรวง สิทธิสมาน

‘เหมา’ สู่ ‘สี’ ตำนานบทใหม่ที่ไม่เทียบเท่า แต่ยิ่งใหญ่กว่า!! 

หากมองการเมืองโลก และสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน คงมิพ้นต้องกล่าวถึงการคัดค้านกันระหว่างสองมหาอำนาจใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลยุทธ์การเดินเกมของทั้งสองชาติในระยะหลังนั้นเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์ทั่วโลกจับตามองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะทางฝ่ายจีน

ต้องยอมรับว่าตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกตั้งคำถามกับมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาโดยรัฐบาลจีน ภายใต้นโยบาย 共同富裕 (ก้งถงฟู่ยวี่) ของจีน ซึ่งหมายถึงการปฏิรูปสังคม-เศรษฐกิจ (Socio-Economic Reform) แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “Common Prosperity” หรือคำที่ใกล้เคียงในภาษาไทยก็คือ “ความเจริญถ้วนหน้า” กล่าวคือ เป็นความเจริญที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั่นเอง

การบังคับใช้ในหลายมาตรการเป็นสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นการ “หักดิบ” ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิในการเล่นเกมออนไลน์ของเด็ก ๆ และวัยรุ่น ไปจนถึงการออกคำสั่งควบคุมการดำเนินกิจการของโรงเรียนกวดวิชา การออกกฎเกณฑ์ห้ามไม่ให้เด็กนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.2 มีการจัดสอบข้อเขียน รวมทั้งบรรจุกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นทักษะทางสังคมและกีฬาเพิ่มเติม สำหรับเหล่าแฟนคลับดารา นักแสดง และคนดังทั้งหลาย พวกเขาถูกจำกัดสิทธิ์ในการซื้อสินค้าและบริการของดาราที่ตนเองชื่นชอบ เนื่องจากทางการมองว่าไม่ควรเสียเงินใช้จ่ายกับ “เรื่องพวกนี้” มากจนเกินไป ทั้งยังมีการสั่งแบนดารา นักร้อง และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีพฤติกรรมทางสังคมไม่เหมาะสม (ตามที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่าไม่เหมาะสม)

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการสั่งห้ามบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การห้ามกิจการขนาดยักษ์ทำกิจกรรมทางธุรกิจบางอย่าง หรือการออกมารวมกลุ่มของบริษัทขนาดยักษ์ของจีนเพื่อสร้างกองทุนเพื่อการพัฒนาและลดความยากจนของประชาชน 

ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากมองว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของจีนอย่าง ‘สี จิ้นผิง’ กำลังนำประเทศกลับสู่ยุคของการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ในยุคของ ‘เหมา เจ๋อตง’ อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน และประธานาธิบดีคนแรกหลังจากที่จีนเปลี่ยนมาปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์

สื่อมากมายประโคมข่าวยกระดับและเปรียบเทียบ สี จิ้นผิง เทียบเท่ากับ เหมา เจ๋อตง ในยุคหลังปฏิวัติคอมมิวนิสต์ปี 1949 ที่มีอำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จ ควบคุมและปกครองแบบแยกตัว (isolate) จากโลกภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใต้วิกฤตกาลโควิด-19 ที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทางการจีนยังไม่มีนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวและนักศึกษาต่างชาติเข้าประเทศ

สำหรับแง่มุมทางการเมือง จีนได้แสดงท่าทีออกมาอย่างชัดเจนว่าพวกเขาต่อต้านอย่างแข็งกร้าว ไม่ยินยอมให้ผู้นำจากโลกตะวันตกใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” และคำว่า “สิทธิมนุษยชน” เข้ามาแทรกแซงการปกครองภายในประเทศจีน ไม่สนใจคำวิจารณ์ต่าง ๆ และแม้ว่าจะมีการคว่ำบาตรจากทั่วโลกอย่างไร แต่ทางการจีนก็แสดงให้เห็น ว่าประเทศจีนเพียงลำพัง ก็สามารถอยู่ด้วยตัวเอง พึ่งพาตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องง้อโลกตะวันตก

นี่ยังไม่นับเรื่อง “มติครั้งประวัติศาสตร์” ที่จะทำให้ สี จิ้นผิง สามารถเป็นประธานาธิบดีไปเรื่อย ๆ ได้จนกว่าจะสิ้นชีพ นับว่าเป็นครั้งที่ 3 นับแต่มีการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยครั้งแรกมีขึ้นในยุคของประธานเหมา และครั้งที่ 2 มีขึ้นในยุคของนายเติ้ง เสี่ยวผิง

ผู้ที่ติดตามประวัติศาสตร์และการเมืองจีนหลายคนคงจะเห็นตรงกันว่า สถานภาพทางอำนาจของนายสี จิ้นผิงในวันนี้ใกล้เคียงกับ เหมา เจ๋อตง เข้าไปทุกที

หากถามตัวผมว่าประธานสี แตกต่างจากประธานเหมาหรือไม่ สำหรับผม ผมว่ายังมีความต่างอยู่บ้าง เพราะหากย้อนกลับไปในยุคประธานเหมา ก็คงต้องพูดถึงผลงานโดดเด่น (ในด้านที่ไม่ดี) ของประธานเหมา ทั้ง “The Great Leap Forward” การสร้างลัทธิบูชาบุคคลที่ขับเคลื่อนด้วย “ยุวชนแดง” (Red Guard) และการตีพิมพ์ “หนังสือปกแดงเล่มเล็ก” (Little Red Book) ใช่ ช่วงเวลาของการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งคร่าชีวิตชาวจีนไปมากกว่า 30 ล้านชีวิต

หนังสือปกแดงเล่มเล็ก (Little Red Book)

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การปกครองที่เป็นลัทธิบูชาบุคคล (Cult of Personality) ซึ่งลัทธิบูชาประธานเหมานั้น หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วเรื่องนี้ไม่ได้เป็นไอเดียของประธานเหมาเพียงลำพัง แต่มีกลุ่มผู้ที่ส่งเสริม ยุยง และสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือ “แก๊ง 4 คน / แก๊งออฟโฟร์” (Gang of Four) นำโดย เจียงชิง (江青) ภรรยาของประธานเหมา และ หลินเปียว (林彪) ผู้มีส่วนสำคัญในชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์

ในช่วงเริ่มต้นของการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น คำว่า “ปฏิวัติวัฒนธรรม” เป็นเพียงแค่แนวคิดและแบบแผนของประธานเหมาในการจะนำสังคมจีนไปสู่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ก้าวหน้าสมบูรณ์แบบ ซึ่งก็คือการ Reset ประเทศใหม่แบบหักดิบ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตามภาพประเทศในฝันของเหล่าผู้นำพรรค

ท้ายที่สุด การประกาศปฏิวัติวัฒนธรรมนั้นได้กลายเป็นเครื่องมือในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของทั้งตัวประธานเหมาเอง รวมไปถึงแก๊งออฟโฟร์ ส่งผลให้ผู้มีความสามารถ นักการเมือง ปัญญาชน และนายทุนมากมายที่ไม่ได้ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ ต้องถูกกำจัดด้วยวิธีต่าง ๆ ด้วยกลไกที่มียุวชนแดงในการขับเคลื่อน และเนื้อหาของกฎเกณฑ์ในหนังสือปกแดงเล่มเล็ก ส่งผลให้ประเทศจีนเสียหายอย่างหนักหน่วง

หากจะกล่าวว่า สี จิ้นผิง กำลังจะกลายร่างกลายเป็น เหมา เจ๋อตง นั้น ตัวผมมองว่าคงจะเป็นการด่วนสรุปจนเกินไป เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจีนภายใต้ สี จิ้นผิง กำลังขับเคลื่อนประเทศด้วยการปฏิรูป ที่หลายคนมองว่าคือการปฏิวัติวัฒนธรรมภาค 2 แต่ในอีกมุมหนึ่ง จีนกำลังพิสูจน์ และแสดงให้โลกเห็นเป็นตัวอย่างว่าความศิวิไลซ์ (civilization) ไม่จำเป็นต้องเจริญแบบตะวันตก (westernization) แต่เพียงอย่างเดียว ประเทศไหน ๆ ก็สามารถเติบโตในแบบของตัวเองได้

นับตั้งแต่หมดยุคประธานเหมา เข้าสู่ยุคผู้นำ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ประเทศจีนได้ดำเนินนโยบายที่แตกต่างออกไปโดยลดความเป็นคอมมิวนิสต์สุดโต่ง เปิดใจค้าขายกับต่างชาติอย่างเสรีมากขึ้น มีการใช้ระบบตลาดแบบทุนนิยม ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก จนถึงยุคสมัยของประธานสี ที่มีการใช้นโยบายขยายการแลกเปลี่ยนทางการค้า เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมด้วยการใช้ Soft Power ภายใต้นโยบาย “หนึ่งเข็มขัดเศรษฐกิจ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) ซึ่งปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การเป็นประเทศด้อยพัฒนาของจีน นักวิเคราะห์ทั่วโลกถึงกับเห็นตรงกันว่าจีนจะกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกใหม่

ในตอนนั้นเอง ที่คำว่า “สงครามการค้าระหว่างจีน-อเมริกา” ได้ถูกพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น นักวิเคราะห์บางคนมองว่าเป็น “สงครามเทคโนโลยี” บ้างก็ว่าเป็น “สงครามความมั่นคง” ซึ่งจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ โดยภาพรวมแล้วมันคือความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาในการช่วงชิงการเป็นมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลก

ในช่วงหลังมานี้ ฝ่ายจีนได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ดุดันยิ่งขึ้นโดยหันมาเดินเกมด้วย Hard Power ในการจัดระเบียบภายในประเทศด้วยนโยบาย Common Prosperity และในขณะเดียวกัน ก็จัดการกับเสี้ยนหนามทางการเมืองที่จีนมองว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายสหรัฐฯ ในการทิ่มแทงจีนจากรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น ไต้หวัน หรือฮ่องกง ซึ่งนอกเหนือจากสองเกาะนี้ ฝ่ายสหรัฐฯ ยังรวบรวมพันธมิตรจากทั่วโลก ทั้งในโซนยุโรป อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการกดดันประเทศจีน โดยใช้ประเด็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในซินเจียง ทิเบต และฮ่องกง ซึ่งล่าสุดก็มีประเด็นร้อนไปเมื่อ ‘โจ ไบเดน’ จัดการประชุม “ซัมมิตประชาธิปไตย” (Summit for Democracy) โดยไม่มีจีนอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกรับเชิญ

“นโยบายควบคุมสินสอด” เมื่อราคาแต่งงานสูงระฟ้า!! สะท้อนอะไรในสังคมจีน?

ระบบสินสอดควรถูกยกเลิก ? หรือยังควรมีต่อไป ? ควรมีมาตรการหรือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินสอดหรือไม่ ? มีใครรู้จัก “นโยบายควบคุมสินสอด” ของประเทศจีนหรือเปล่า ?

ปัจจุบัน ความเท่าเทียมทางเพศกลายเป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่ถูกพูดถึงมากที่สุด โดยมีทั้งกลุ่มเฟมินิสต์ (faminist) และกลุ่ม LGBTQ+ เป็นหัวใจสำคัญในการเรียกร้องความยุติธรรม และต่อสู้กับวัฒนธรรมการกดขี่ทางเพศที่ยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมโลก

การเรียกร้องในรูปแบบดังกล่าวทำให้ประเด็นสิทธิสตรี เสรีภาพในการแต่งตัว การสมรสเท่าเทียม ตลอดจนเรื่องการทำแท้งถูกกฎหมาย ทั้งนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่หลายคนนำมาเป็นหัวในการถกเถียงคือเรื่องของการ “ยกเลิกสินสอด” หลังจากที่ดาราสาว ก้อย - อรัชพร โภคินภากร ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าควรยกเลิกระบบสินสอด และแนวคิดการวัดค่าผู้หญิงด้วยเงิน

สำหรับความคิดเห็นของคนในสังคมก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็มองว่าเป็นเรื่องการตัดสินใจของคู่บ่าวสาว บ้างก็ยังเห็นว่าการให้สินสอดคือการแสดงความพร้อมและความตั้งใจของฝ่ายชายในการจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกับฝ่ายหญิง

หากพูดถึงระบบสินสอดนั้น การจ่ายเงินค่าสินสอดมิเพียงแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมความไม่เท่าเทียมทางเพศ หากแต่ยังสะท้อนความแตกต่างทางฐานะ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งเห็นได้จากหลายครั้งที่ชายหนุ่มไม่ได้รับความสนใจจากหญิงสาว

หากพูดถึงระบบสินสอดนั้น สินสอดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีมายาวนานหลายศตวรรษในประเทศฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะประเทศจีน ที่ปัจจุบันนี้ ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ และพลวัตทางสังคม ทำให้ตอนนี้ ประเด็นสินสอดกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าว เพราะเงินค่าสินสอดพุ่งสูงต่อเนื่อง จนอาจนำไปสู่ปัญหาชายจีนไร้คู่ครอง ปัญหาดังกล่าวทำให้ประเทศจีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการบังคับใช้ “นโยบายควบคุมสินสอด” พร้อมแนะนำไม่ให้จัดงานแต่งงานที่ใช้เงินทองสิ้นเปลืองจนเกินไป เพื่อช่วยสนับสนุนให้ประชาชนตัดสินใจแต่งงานกันง่ายขึ้น

ย้อนกลับไปในสมัยที่ประเทศจีนยังมีการบังคับใช้ "นโยบายลูกคนเดียว" ครอบครัวชาวจีนต่างพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้โอกาสในการมีลูกครั้งเดียวในชีวิตเป็นโอกาสที่คุ้มค่าที่สุด คือได้ลูกชายเพื่อมาสืบทอดเชื้อสายแซ่สกุล มีการทำแท้งเพื่อเลือกเพศบุตร มีการนำลูกสาวไปขายหรือทิ้ง ทั้งยังมีการขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ได้ลูกชาย ใช้มนตราอาคมเพื่อให้มีลูกชายอย่างสมหวัง ก่อนที่รัฐบาลจีนจะผ่อนปรนนโยบายลูกคนเดียวเมื่อปี 2016

ขอดเกล็ดมังกร!! 1​ ศตวรรษ​ พรรคคอมมิวนิสต์จีน ความยิ่งใหญ่​ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง​ ที่หาใครปรับตัวตามยาก

เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนคือสถาบันทางการเมืองที่ปกครองประเทศจีนมาอย่างยาวนาน และที่จีนพัฒนาประเทศมาได้ถึงขั้นนี้นั้น พรรคคอมมิวนิสต์ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินนโยบายและบริหารราชการแผ่นดิน จนถึงวันนี้ที่คนจีนสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าตัวเองเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกไปแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งจะมีการฉลองอย่างเอิกเกริกในวาระครบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ซึ่งหากย้อนกลับไปดูประเทศจีนในยุคก่อตั้งพรรคเมื่อร้อยปีที่แล้ว เทียบกับประเทศจีนในวันนี้ การเดินทางอันสุดเหลือเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องผ่านอะไรมาบ้างในแต่ละยุคสมัย ? และเพราะเหตุใดที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนจึงถูกนักวิเคราะห์ทั่วโลกขนานนามว่า “พรรคคอมมิวนิสต์ที่ปรับตัวมากที่สุดในโลก” ?

พรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1921 ซึ่งเชื่อกันว่า Timeline ประวัติศาสตร์ของจีนในช่วงนี้เป็นยุคที่ตกต่ำและมืดหม่นที่สุด นับตั้งแต่จีนพ่ายแพ้อย่างน่าอับอายในสงครามฝิ่น อันเป็นเหตุให้เสียดินแดนฮ่องกงและเกาลูนไป จนยุคล่มสลายของราชวงศ์ชิงในปี 1912 ซึ่งอำนาจการปกครองก็เปลี่ยนไปอยู่ในมือของ ‘พรรคกั๋วหมินตั่ง’ หรือที่คนไทยรู้จักกันในนามก๊กมินตั๋ง ซึ่งก็คือพรรคประชาธิปไตยนั่นแหละครับ

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์นั้นผงาดขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนสามารถปฏิวัติประเทศและเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองสำเร็จ ทำให้จีนเริ่มต้นยุคสมัยที่ปกครองประเทศด้วยรูปแบบสังคมนิยมในปีค.ศ. 1949 ภายใต้การนำของประธานเหมา หรือ เหมาเจ๋อตง

พรรคคอมมิวนิสต์ในยุคประธานเหมาเป็นรูปแบบที่นักวิชาการนิยามว่า “คอมมิวนิสต์แบบลัทธินิยม” หรือ “หรือคอมมิวนิสต์ในแบบเหมาเจ๋อตง” (Maoist - communism) ซึ่งเน้นไปที่การปลูกฝังให้คนหนุ่มสาวเป็นคอมมิวนิสต์ในแบบที่เหมาต้องการ เกิดลัทธิบูชาบุคคล เกิดการ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 10 ล้านชีวิต แต่สุดท้ายแล้ว การบริหารของรัฐบาลในยุคนั้นก็ยังไม่สามารถพาให้คนจีนหลุดพ้นจากความยากจนได้เสียทีเดียว

ด้วยความที่การปกครองของเหมานั้นถูกครหาว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” จึงเป็นหน้าที่ของผู้นำรุ่นต่อไปอย่าง “เติ้งเสี่ยวผิง” ที่จะต้องเข้ามาปฏิรูปแนวคิดทางการบริหารประเทศใหม่ ไม่ต้องเน้นอุดมการณ์ แต่เน้นไปที่ความเป็นจริง ด้วยวิสัยทัศน์ที่มองว่าการปกครองในรูปแบบดั้งเดิมของคอมมิวนิสต์ยังมีจุดอ่อน ปรับตรงไหนได้ก็ต้องปรับ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ซึ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ในยุคสมัยของผู้นำเติ้งถูกมองว่าปกครองแบบ “เศรษฐกิจนิยม”

“ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี”

“ไม่ว่าจะเป็นอุดมการณ์ทุนนิยมหรือสังคมนิยม ขอเพียงทำให้คนจีนรวยได้ก็ถือเป็นอุดมการณ์ที่ดี”

นั่นทำให้วิธีการของผู้นำเติ้งมีรูปแบบของการผสมผสานระหว่างทุนนิยมและสังคมนิยม ซึ่งก็ได้ผลลัพท์อย่างเป็นรูปธรรมเลยครับ เศรษฐกิจจีนกลับมาเติบโต ประชาชนจีนกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง

การปกครองในรูปแบบ “เศรษฐกิจนิยม” นี้ถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งประเทศจีนเติบโตขึ้นมาและมีบทบาทมากขึ้นบนเวทีโลก ซึ่งก็เป็นวิวัฒนาการขั้นต่อไปของพรรคคอมมิวนิสต์ภายใต้การนำของ “สีจิ้นผิง” ซึ่งไม่ได้มีเป้าหมายแค่การยืนบนลำแข้งตัวเอง หรือทำให้ประชาชนลืมตาอ้าปากเท่านั้น แต่คือการทำให้ประเทศจีนกลับมายิ่งใหญ่ เป็นมหาอำนาจโลกเหมือนอย่างในอดีต ขึ้นมาตีคู่กับเจ้าโลกในยุคปัจจุบันอย่างสหรัฐฯ 

การปกครองของพรรคคอมิวนิสต์ในยุคนี้ถูกนักวิเคราะห์ทั่วโลกเรียกว่า “ชาตินิยม” คือ อะไรก็ตามที่จะทำให้ประเทศจีนแข็งแกร่ง ผู้นำก็จะนำประชาชนให้มุ่งไปทางนั้นอย่างพร้อมเพรียง ไม่ว่าจะเป็นการบุกตลาดการค้า ตีตลาดนวัตกรรมเทคโนโลยี และผนึกกำลังสร้างห่วงโซ่อุปทานของตัวเองขึ้นมา โดยมิได้เกรงกลัวแรงต้านใด ๆ ทั้งสิ้น

ซึ่งเพื่อเป้าหมายในการเป็นหนึ่ง ผมมองว่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนในปัจจุบันอยู่ในช่วงเวลาที่เข้มแข็งที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีความผสมผสานระหว่างการใช้อุดมการณ์เพื่อรวมใจคนในชาติ และการออกนโยบายเชิงรุกเพื่อเดินเกมเศรษฐกิจ เป็นมังกรนักล่าที่ครบเครื่อง มีทั้งเขี้ยวเล็บ มีทั้งปีก และยังสามารถพ่นไฟได้อีกด้วย!! 

สำหรับการปรับตัวในครั้งต่อไปของพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคหลังโควิด-19 นั้นจะเป็นอย่างไรก็คงจะต้องติดตามดูกันไปครับ เพราะช่วงนี้ทางฝั่งสหรัฐฯ ก็กำลังเดินเกมรวบรวมพรรคพวกและพันธมิตรเพื่อเข้าสกัดการเจริญเติบโตของจีนอยู่เช่นกัน

จะเป็นอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าเกมนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยไม่มากก็น้อย...ไม่ดีก็ร้ายอย่างแน่นอน


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ “วัฒนธรรมรักษาหน้า” ของสังคมจีน 

หากผู้อ่านท่านใดเป็นลูกหลานชาวจีน ก็คงจะได้เคยเห็นญาติผู้ใหญ่ของตัวเองกระทำการ “แย่งกันจ่าย” หรือการพยายามออกตัวเป็นเจ้าภาพผู้ใจกว้างที่จ่ายเงินเลี้ยง และดูแลพวกพ้องตามมื้ออาหารต่าง ๆ รวมถึงเวลามีงานเลี้ยงกับเพื่อนฝูงหรืองานเลี้ยงรวมญาติ

ดูเหมือนว่าการแย่งกันจ่ายสำหรับคนจีนนั้นจะทำกันอย่างเป็นวัฒนธรรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความ “爱面子 - อ้ายเมี่ยนจึ” แปลตรงตัวได้ว่า “รักหน้า” หรือหากจะหาคำภาษามานิยาม ก็คงจะใกล้เคียงกับคำว่า “หน้าใหญ่” ที่สุด ซึ่งก็คือการยึดติดกับเกียรติยศ ศักดิ์ศรี และการมีภาพลักษณ์ที่ดีสมบูรณ์ ซึ่งคนจีนหลายคนให้ความสำคัญกับ “หน้า” เป็นอย่างมาก

ตัวผู้เขียนเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศจีนมาเป็นเวลา 4 ปี หนึ่งในประโยคที่ผมได้ยินบ่อยมากคือ...

“什么都可以丢,但不能丢脸” (อะไรก็ยอมเสียได้หมด แต่จะไม่ยอมเสียหน้า)

หากแปลเป็นไทยก็จะคล้ายกับประโยคที่ว่า “เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้”

แล้วต้องทำอย่างไรให้ “ได้หน้า” หรืออย่างน้อยก็คือ “ไม่เสียหน้า” ? ซึ่งการกระทำให้ได้หน้านั้นก็เหมือนจะมีสูตรสำเร็จอยู่แล้ว สำหรับผู้ชายก็คือการประสบความสำเร็จในชีวิต มีเงิน มีบ้าน มีรถ และมีเมีย ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็คือเครื่องประดับบารมีของผู้ชาย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นนิยามของคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ซึ่งการประสบความสำเร็จนั่นแล ที่เป็นตัวชี้วัดระดับสถานะทางสังคม หรือเรียกอีกอย่างได้ว่า “มีหน้ามีตาในสังคม”

แต่ความเป็นจริงก็มิได้สวยหรูหรอกครับ เพราะพื้นที่ของปลายยอดพีระมิดนั้นมีจำกัด ทุกคนอยากประสบความสำเร็จ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จจริง ๆ กระนั้นแล้ว แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เพื่อการมีหน้ามีตาในสังคม หลายคนยอมทำทุกอย่างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูรุ่งโรจน์ มีความมั่นคง และใกล้เคียงกับคำว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้คนจีนมากมายเกิดพฤติกรรมที่เรียกว่า “打肿脸充胖子 - ต่า จง เหลี่ยน ชง พ่าง จึ” แปลเป็นไทยได้แบบตรงตัวได้ว่า “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน” มีความหมายว่า ทำเรื่องเกินตัวเพื่อรักษาหน้า หรือการพยายามสร้างบารมีเกินกว่าความเป็นจริงจนเป็นโทษแก่ตัวเอง

ยกตัวอย่างพฤติกรรมการตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน เช่นการดึงดันจะเป็นคนออกเงินเลี้ยงอาหารเพื่อนเพื่อทำให้ตัวเองดูดีมีฐานะ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วอาจมีหนี้สินติดค้างคนอื่น ๆ อยู่มากมาย หรือการดื่มเหล้ามากเกินไป เพื่อทำให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองคอแข็ง สามารถดื่มได้มาก แต่สุดท้ายเมาจนต้องให้คนหิ้วปีกกลับบ้าน หรือจะเป็นการลงทุนกับเครื่องแต่งกายด้วยการซื้อแบรนด์หรูให้ตัวเองดูมีมูลค่า แต่ต้องแอบกินบะหมี่สำเร็จรูปอยู่ที่บ้านไปทั้งเดือน

ซึ่งกรีณีเหล่านี้อาจถือได้ว่าเบาไปเลยครับ เมื่อเทียบกับผู้หญิงกลุ่มหนึ่งที่ถูกสามีทำร้ายร่างกาย แต่เพราะกลัวจะเสียหน้า จึงไม่กล้าหย่ากับสามี (ค่านิยมสำหรับคนจีน การหย่าคือเรื่องน่าอับอาย) และได้แต่ยอมทนถูกกระทำต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเด็ก ๆ บางคนที่ยอมโกงข้อสอบเพื่อรักษามาตรฐานของตัวเอง และเพื่อไม่ให้พ่อแม่เสียหน้า หรือเพื่อให้พ่อแม่เอาคะแนนลูกไปอวดคนอื่นเพื่อเอาหน้า หรือแม้กระทั่งบางคนที่เคยประสบความสำเร็จจริง ๆ แต่เมื่อถึงคราวลำบากกลับไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากญาติมิตรเพราะกลัวจะเสียหน้านั่นเอง

ซึ่งค่านิยมการรักหน้าในรูปแบบของการ “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน” นับว่าเป็นค่านิยมที่ผิด ส่วนคนที่ยึดติดกับมายาคติของคำว่า “หน้า” มากเกินไปก็มักจะลงเอยด้วยการพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่ยากลำบากกว่าเดิม

แต่หากถามว่าการรักหน้านั้นมีข้อดีหรือไม่ ก็มีครับ หากอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่เป็นแก่นหลักของวัฒนธรรมการรักหน้านั้นคือการพยายามพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองให้มีความรุ่งโรจน์ และตรงกับสิ่งที่นิยามคำว่า “ประสบความสำเร็จ” ซึ่งการรักหน้าก็ถือว่าเป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตให้เดินไปข้างหน้าของคนในสังคมได้เหมือนกัน เพราะทำให้เกิดการแข่งขันกันพัฒนา ยิ่งคนในประเทศมีความมุ่งมั่นในการทำงานพัฒนาตัวเองมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจและบุคลากรคุณภาพให้กับประเทศในภาพรวม

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ ค่านิยมเกี่ยวกับการ “รักหน้า” นั้นควรจะอยู่ในระดับที่พอดี เพราะหากมากเกินไปจนการแข่งขันเพื่อพัฒนากลายเป็นแข่งขันเพื่อบลัฟ เพื่ออวดเบ่งความยิ่งใหญ่ของตัวเอง และทำให้เกิดการ “ตีหน้าตัวเองให้บวม เพื่อทำให้ตัวเองดูอ้วน”

ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนแล้ว การให้ค่าตัวเองนั้นสำคัญที่สุดครับ และควรปล่อยวางคำตัดสินต่าง ๆ ของคนอื่นที่เกิดจากค่านิยมในสังคม การประสบความสำเร็จของเรานั้นเป็นอย่างไร เราควรมีส่วนในการตัดสินใจด้วย


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

‘พี่จีน’ และ ‘น้องไทย’ ความสัมพันธ์แบบ ‘ถ้าไม่รักก็ชัง’

เป็นที่รู้กันดีครับ ว่าหากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยเราก็ถือว่าเป็นจุดหมายอันดับต้น ๆ สำหรับนักเดินทางชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่เราต่างก็รู้ดีว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวของพวกเขานั้นสร้างรายได้ให้กับประเทศเราอย่างมหาศาล

ในปีพ.ศ. 2559 (ช่วงก่อนโควิดระบาด) เพียงปีเดียว รายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวจีนมีมูลค่าสูงกว่า 400,000 ล้านบาท แถมการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในทุก ๆ ปี ซึ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เที่ยวไทยยังเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวมูลค่าต่อคนที่สูงมาก ๆ ทั้งค่าใช้จ่ายโดยการท่องเที่ยว และการซื้อของฝาก

โดยสิ่งที่บ่งบอกได้ว่าชาวจีนค่อนข้างที่จะกรี๊ดกร๊าดกับแบรนดิ้งความเป็นไทยนั้นมีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแห่มาท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่างกรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต และเชียงใหม่ ฯลฯ หรือการที่ชาวจีนกว้านซื้อผลไม้ไทยส่งกลับไปที่แผ่นดินใหญ่ การที่ชาวจีน “คลั่งไคล้” ในทุเรียนไทย รวมถึงความนิยมในดารานักแสดงชาวไทย และละครไทยซึ่งหลายเรื่องที่เราคนไทยไม่รู้จัก แต่กลับดังพลุแตกอยู่ในจีน ซึ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในหมู่ “แม่จีน” ตอนนี้เห็นจะเป็น ‘ซีรี่ส์วาย’ หรือแม้กระทั่งล่าสุดคือกระแสเรื่อง ‘แนนโน๊ะ’ จากซีซั่นใหม่ของซีรี่ส์ ‘เด็กใหม่’ โดย Netflix

ความรักในความเป็นไทยของชาวจีนนั้นเป็นที่ประจักษ์ในตัวเลขสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ตัวผมและเพื่อน ๆ ชาวไทยที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองจีนเองก็สัมผัสได้อย่างชัดเจนในทุกครั้งที่ผมแนะนำตัวกับเพื่อนใหม่ชาวจีนว่าเราเป็นคนไทย มาจากไท่กั๋ว (泰国) ก็จะได้เห็นแววตาแห่งความตื่นเต้นในเกือบทุกครั้ง ซึ่งบทสนทนาต่อจากนั้นก็จะเป็นไปในทิศทางประมาณว่า

“โอ้ว,我去过泰国 ฉันเคยไปเที่ยวที่ไทย”

“我真的喜欢泰国的水果,特别是泰国的榴莲。ฉันชอบผลไม้ไทยมาก โดยเฉพาะทุเรียน”

“哦,你有没有看过爱在暹罗吗?หนี่เคยดูหนังเรื่อง ‘รักแห่งสยาม’ หรือเปล่า ? ”

ซึ่งผมที่เป็นคนไทยก็จะได้โอกาสโม้เรื่องราวและโอ้อวดความเป็นไทยอย่างภาคภูมิใจอยู่บ้าง แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ผมได้สะท้อนและมองมุมกลับ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็คือเหตุการณ์ “ดราม่าแนนโน๊ะ” นี่แหละครับ ที่หลังจากกลายเป็นกระแสทำให้คนจีนมากมายแต่งคอสเพลย์ชุดนักเรียนไทยตามแนนโน๊ะ

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเริ่มต้นในวันที่ทีมงานซีรี่ส์เด็กใหม่ออกมาโพสต์ขอบคุณแฟนคลับจากทั่วโลกเป็นภาษาต่าง ๆ โดยมีการใช้คำยกฮ่องกงและไต้หวันว่าเป็น “ประเทศ” โดยวางสัญลักษณ์ธงชาติตามหลังชื่อ ซึ่งสำหรับคนจีนนั้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องซีเรียส เพราะประชาชนจีนเกือบทุกคนถูกปลูกฝังมาโดยตลอดว่าไต้หวันและฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน จนทำให้มีคนจีนจำนวนไม่น้อยออกมาเรียกร้องบนโลกอินเทอร์เน็ตโดยติดแอชแท็ก #禁忌女孩辱华 หรือ #ซีรี่ย์เด็กใหม่ดูถูกประเทศจีน โดยเรียกร้องให้ #เด็กใหม่2 ออกมาขอโทษในกรณีดังกล่าว

ซึ่งก็เรียกได้ว่าจากรักกลายเป็นชังได้ภายในพริบตาเดียวจริง ๆ ครับ…

อีกหนึ่งกรณีที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือประเด็นเดือดในทวิตเตอร์เมื่อกลางปีที่แล้ว (2020) จากแฮชแท็ก #nnevvy ของเหล่าแฟน ๆ นักแสดงซีรีส์วายอันเป็นชนวนที่ทำให้แฟนคลับชาวจีนทะเลาะกับแฟนคลับชาวไทยในโลกออนไลน์ จากกรณีนักแสดงหนุ่มดาวรุ่งหน้าใส ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี รีทวีตโพสต์หนึ่งบนทวิตเตอร์ ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นภาพของฮ่องกง และเรียกฮ่องกงว่าเป็นประเทศ ซึ่งก็เป็นกรณีคล้ายกับดราม่าแนนโน๊ะเลยครับ กลายเป็นเหตุที่ทำให้ตัวนักแสดงต้องพบกับแฟนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยแฟนคลับชาวจีน ก่อนที่นักแสดงหนุ่มจะโพสต์ขอโทษ

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องคำว่า “ชาติ” เป็นหนึ่งในประเด็นที่อ่อนไหวมาก ๆ สำหรับคนจีน

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 ในช่วงขาขึ้นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่คำพูดของผู้นำระดับสูงของประเทศไทยที่วิจารย์กรณีชาวจีน 41 รายที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือล่มใกล้กับเกาะภูเก็ต และยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเหตุเกิดเนื่องจาก "บริษัทจีนเข้ามาทำธุรกิจในไทย โดยใช้นอมินีของไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินคดีอยู่ โดยเรื่องนี้จะต้องดำเนินการแก้ไขและไทยก็มีกฎหมายของไทยอยู่” ซึ่งก็คือการกล่าวโทษไปที่ระบบ ‘ทัวร์ 0 เหรียญ’ ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นใหญ่ที่คนพูดถึงกันในปีนั้น

คำพูดดังกล่าวถูกนำไปรายงานตามสื่อต่าง ๆ ของจีน ก่อให้เกิดความไม่พอใจอย่างมากในหมู่ชาวจีน ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง คนจีนมากมายมองว่าปัญหาก็ส่วนปัญหา แต่การตายของคนจีน 41 คนที่อุบัติขึ้นในประเทศของคุณ ที่คุณเป็นผู้นำ การกล่าวแสดงความอาลัยมันยากนักหรือ การกล่าวโทษคนจีนด้วยสีหน้าที่เพิกเฉยมันผิดเวลาไปหน่อยหรือไม่ ? 

ซึ่งก็กลายเป็นเหตุให้เกิดกระแสแบนภูเก็ต จนทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนในภูเก็ตในปีนั้นและปีต่อมาลดฮวบไปอย่างน่าตกใจ เพื่อนของผมที่เปิดร้านอาหารรองรับทัวร์จีนเล่าให้ผมฟังว่าเหตุการณ์นี้ส่งผลให้กิจการร้านอาหารต้องเจ๊งไปเลยทีเดียว

จากสามกรณีที่ผมยกตัวอย่างมานี้คือลักษณะของความสัมพันธ์ในรูปแบบ ‘ถ้าไม่รักก็ชัง’ คือรักกันอยู่ดี ๆ ก็เกลียดกันเสียอย่างนั้น ซึ่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงจากคำว่า “รัก” จนกลายมาเป็นคำว่า “เกลียด” หรือคำว่า “แบน” เนี่ย มันเกิดขึ้นจากประเด็นหลัก ๆ อยู่ที่ประเด็นคำว่า “ชาติ”

ด้วยลักษณะของคนจีนที่ยอมเสียได้ทุกอย่างแต่จะไม่มีวันยอมเสียหน้านั้น ทำให้ความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับกรณีฮ่องกงและไต้หวันนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาหัวร้อนอยู่บ่อย ๆ เพราะหากมองในมุมรัฐบาลจีนที่พยายามอย่างหนักในการโปรโมทนโยบายที่มีชื่อว่า “จีนเดียว” (One China) และด้วยความที่กำลังแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ถูกโจมตีด้วยประเด็นเหล่านี้ รวมถึงการที่โลกฝั่งตะวันตกเข้ามามีบทบาทการเมืองระหว่างจีนและไต้หวัน/ฮ่องกง ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐจะต้องคอยปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมลงไปในดีเอ็นเอของคนในชาติ

การกระทำอันใดที่เป็นการดูถูกประเทศจีนนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เป็นอันขาด ในกรณีอย่างดราม่าแนนโน๊ะนั้น ไม่ว่าจะตั้งใจก็ดี หรือว่าไม่ได้ตั้งใจก็ดี แต่การจะทำการค้าขาย หรือตีตลาดในประเทศจีนอย่างมีประสิทธิผลนั้น จำเป็นจะต้องเข้าใจในประเด็นนี้ เพราะหากเราเผลอทำตัวไม่น่ารัก เราอาจถูกเกลียดชังได้ภายในพริบตาเดียว


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘นโยบาย​ -​ ค่านิยม​ -​ ความเชื่อ' รากลึก​แห่ง ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ ในแดนมังกร

“ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นหัวข้อที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้มีพื้นฐานเป็นรากที่ฝังลึกยึดแน่นเหนี่ยวอยู่กับค่านิยมเก่า ๆ วัฒนธรรม ตลอดจนพลวัตทางสังคม การเคลื่อนไหวไปข้างหน้า และความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

สำหรับประเทศจีนนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศจีนถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดคือเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทั้งในมิติของสังคมชายเป็นใหญ่ และในมิติของเพศที่สาม

ซึ่งก็ต้องเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านก่อนนะครับ ว่าบทความนี้มิได้มีเจตนาในการสนับสนุนหรือโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งยังมิได้เป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนหรือเห็นชอบกับพฤติกรรมการกดขี่ทางเพศ เพียงแต่ต้องการนำเสนอเรื่องราวความเป็นจริงในอดีต รวมถึงเหตุผลที่เป็น “ราก” ของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยในจีนของผู้เขียน การได้รับรู้รับฟังปัญหาจากเพื่อน ๆ และอาจารย์ รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในจีนมาสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ในบทความนี้

จริง ๆ เรื่องนี้มันมีเป็นล้านเหตุผลครับ แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุด และจะหยิบยกมาเล่าในบทความชิ้นนี้มีอยู่ 3 ข้อด้วยกันครับ

1.) นโยบายลูกคนเดียว (One child policy)

2.) วัฒนธรรมการแต่งงาน และการให้ความสำคัญกับการแต่งงานของพ่อแม่ชาวจีน

3.) ความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวตามหลักขงจื๊อ

นโยบายลูกคนเดียว

ข้อนี้เป็นข้อแรก และเป็นเหตุผลข้อที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศในประเทศจีนปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องขอเล่าย้อนไปถึงการให้ความสำคัญกับครอบครัวคนจีน การรวมญาติรวมมิตรและวงศ์ตระกูล และการสืบทอดเชื้อสาย ขยับขยาย และเพิ่มพูนสมาชิกครอบครัวที่ถือแซ่เดียวกัน เพื่อเป็นทั้งที่พึ่งพากัน เกื้อหนุนกัน เป็นแรงงานให้กัน สืบทอดกิจการกัน รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมบารมีและสร้างอิทธิพลให้กับแซ่สกุลที่แต่ละคนถืออยู่ ข้อนี้ทำให้ผมไม่รู้สึกแปลกใจเลยครับ ที่อาเหล่ากงและอาเหล่าม่าของผมจะมีลูกด้วยกันทั้งหมด 9 คน…

ชาวจีนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนนิยมมีลูกเยอะ ๆ ครับ มีลูกชายก็เอามาช่วยการงาน มีลูกสาวก็จับแต่งงานแลกกับเงินค่าสินสอด ยิ่งมีมาก ยิ่งหาเงินง่าย ยิ่งสบาย แต่ด้วยความที่คนจีนนิยมมีลูกมาก ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะในปี ค.ศ.1949-1976 ระยะเวลาเพียง 27 ปี จำนวนประชากรจีนเพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านคน จาก 540 ล้านคน กลายเป็น 940 ล้านคน คือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

ตัวเลขประชากรที่เพิ่มขึ้นยังไม่น่ากลัวเท่าจำนวนประชากรที่ต้องตายเพราะความอดอยาก เฉพาะในปี ค.ศ.1959-1961 เวลาเพียง 2 ปี มีคนจีนอดตายไปอย่างน้อย 15-30 ล้านชีวิต ทางการจีนต้องแก้ปัญหาอย่างด่วนเลยครับ ซึ่งก็เป็นที่มาของการออกนโยบาย One child policy เพื่อมาแก้ไขต้นตอปัญหาประชากรล้นทำให้รัฐบาลไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

เมื่อมีลูกได้แค่คนเดียว พ่อแม่ชาวจีนส่วนใหญ่จึงคาดหวังให้ลูกที่เกิดมานั้นเป็นผู้ชาย เพื่อสืบทอดเชื้อสายสกุลแซ่ เกิดการ “พยายามทำให้ได้ลูกชาย” ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยไสยศาสตร์ การขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือวิธีการที่โหดร้ายทารุณที่หากพ่อแม่คู่ไหนไม่พอใจที่ได้ลูกสาวก็เอาไปขาย หรือนำไปทิ้ง เพื่อรักษาสิทธิ์ในการมีลูกชายในการคลอดครั้งต่อไป

ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แต่การพยายามทำให้เกิดลูกชายด้วยวิธีการต่าง ๆ นั้นทำให้สุดส่วนประชากรชายหญิงไม่สมดุลกัน ประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงหลายสิบล้านคน เมื่อประชากรไม่สมดุลกัน ผู้ชายมีจำนวนมากกว่า จึงมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่า อันเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นผลที่ตามมา

วัฒนธรรมการแต่งงาน และการให้ความสำคัญกับการแต่งงานของพ่อแม่ชาวจีน

การแต่งงานถือเป็น Highlight สำคัญของชีวิตชาวจีน เป็นเป้าหมายสูงสุดของพ่อแม่ ที่จะได้เห็นลูกชายประสบความสำเร็จ ได้เห็นลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝา และได้อุ้มหลานตัวน้อยในวัยชราก่อนจะลาจากโลกไป สมัยก่อนชาวจีนวัดค่าการประสบความสำเร็จที่การแต่งงาน ผู้ชายที่แต่งงานคือผู้ชายที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในชีวิตแล้ว ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานก็จะอยู่อย่างสบายภายใต้การดูแลของสามี ไม่ต้องลำบากพ่อแม่อีกต่อไป

ใช่แล้วครับ หลังจากมีการประกาศใช้นโยบายลูกคนเดียว ของพ่อแม่ชาวจีน ความคาดหวังของพ่อแม่ที่จะได้เห็นลูกชายหรือลูกสาวคนเดียวแต่งงานนั้นมีแค่โอกาสเดียว คนเดียว ครั้งเดียว หมดแล้วหมดเลย

ONE CHANCE เท่านั้น !

เอาจริง ๆ พ่อแม่ชาวจีนก็หาทำเหลือเกินครับ ทั้งพยายามจับลูกไปคลุมถุงชนเอย พาไปตลาดนัดหาคู่ หรือสถานที่ที่พ่อแม่ชาวจีนจะเอาข้อมูลและคุณสมบัติของลูก ๆ ไปป่าวประกาศ และทำการดีลกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเพศตรงข้ามกับลูกตัวเอง และพยายามจับคู่หากมีคุณสมบัติที่ตรงใจและราคาสินสอดที่เหมาะสม นี่เป็นสิ่งที่มีในจีนเท่านั้นครับ หาที่อื่นไม่ได้แน่ ๆ ไม่มีคนชาติไหนคิด และทำอะไรทำนองนี้ได้เหมือนอย่างจีนแน่นอน

ซึ่งนั่นก็สร้างความกดดันเป็นอย่างมากให้กับลูก ๆ ชาวจีนที่เป็นความหวังเดียวของพ่อแม่ ยิ่งเป็นผู้ชาย ยิ่งต้องแบกรับภาระในการสืบทอดเชื้อสายสกุล ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุให้คนที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกันต้องลำบากใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองให้พ่อแม่ที่คาดหวังให้ลูกชายแต่งงานได้รับรู้ แน่นอนว่าจะต้องทำให้คนเป็นพ่อแม่ผิดหวังไม่มากก็น้อยอย่างปฏิเสธไม่ได้

หากคิดในมุมพ่อแม่ มีลูกได้แค่ครั้งเดียว หวังอย่างยิ่งว่าลูกจะเกิดเป็นชายเพื่อสืบทอดตระกูล ดีใจอย่างมากที่สมหวัง ได้ลูกชายจริง ๆ สมใจ แต่พอลูกชายโตขึ้นมาดันเป็น LGBTQ+ ความคาดหวังทั้งหมดคงจะพังทลายไปจนสิ้น

นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ LGBTQ+ มิได้ถูกยอมรับในจีนนัก

ความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวตามหลักขงจื๊อ

ปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวจีนในอดีต และยังทรงอิทธิพลต่อยุคปัจจุบันอย่าง ‘ขงจื้อ’ เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมความกตัญญูเป็นอย่างมาก ขงจื๊อย้ำมากว่า “บุตรต้องดีต่อบิดามารดา บุตรที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา จะต้องไม่ทำให้บิดามารดาขายหน้า หรือเสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียง” 

ความเชื่อดังกล่าว ส่งผลต่อสภาพสังคมจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งมันก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ที่จะยอมนำเรื่องเพศสภาพไปเปิดใจคุยกับพ่อแม่ หรือเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะ เพราะกลัวจะเป็นการทำให้เป็นที่อับอายของครอบครัว จึงได้แต่อยู่อย่างหลบซ่อน 

มีแอปพลิเคชั่นหาคู่แต่งงานของเหล่าหนุ่มสาวที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งแอปฯ ดังกล่าว เป็นแอปฯ จับคู่ระหว่างผู้ชายที่เป็นเกย์และผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนมาแต่งงานบังหน้า แต่ถึงเวลาจริงก็แยกย้ายกันไปอยู่กับคู่รักของตัวเองที่เป็นเพศเดียวกัน จะมาออกงานคู่กันก็ต่อเมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญที่ต้องฉลองกันเป็นครอบครัว ซึ่งทั้งคู่ก็จะต้องทนเล่นบทเป็นสามีภรรยาที่รักกันต่อหน้าครอบครัวของตัวเองเพื่อปกปิดความจริง

ใช่ครับ นี่มัน 2021 แล้ว แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในจีนนั้นหยั่งรากลึกเกินกว่าจะแก้ให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ด้วยความที่โลกมันก็เปิดกว้างขึ้นในปัจจุบัน ความคิดของคนจีนรุ่นใหม่ก็เปิดกว้างขึ้นแล้วครับ เรื่องนี้อาจจำเป็นต้องใช้เวลาอีกหน่อย

บางคนถามว่าทำไม่รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือออกกฎหมายรับรองสิทธิของคนกลุ่มนี้ ก็ต้องย้อนไปดูเรื่องของ “อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ” ของสังคมนิยมในแบบของจีนด้วยครับ สังคมจีนยังคงต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจอยู่ ยิ่งในตอนนี้เป็นยุคสังคมผู้สูงอายุด้วยครับ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเกิดน้อยลง และด้วยความที่ความรักของคนเพศเดียวกันไม่สามารถผลิตลูกได้ หากว่ารัฐมีนโยบายมาสนับสนุนกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันอย่างไม่ระมัดระวัง ก็มีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดจะยิ่งลดลง

ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าต้องค่อย ๆ ออกนโยบายสนับสนุนให้คนจีนมีอิสระในการให้กำเนิดลูกได้มากขึ้น มากกว่าแค่ 1 หรือ 2 คน เพื่อทำให้อัตราการเกิดกลับมา on point แล้วค่อย ๆ เริ่มวางนโยบายเปิดกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQ+

แต่ก็อย่างว่าครับ เรื่องมันับซ้อนเหลือเกิน ซับซ้อนเกินกว่าจะมาตัดสินโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอ่าน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้รู้ และได้เห็นได้สัมผัสด้วยตัวเอง

เมื่อพูดถึงเรื่องเพศ มันก็ต้องเชื่อมโยงไปเรื่องนโยบายลูกคนเดียว เรื่องวัฒนธรรมการแต่งงาน และเรื่องขงจื๊อ นี่ขนาดยังไม่ได้เอาเรื่องอุดมการณ์สังคมนิยมแบบฮาร์ดคอร์มาเล่านะครับ

อย่างไรก็ตามเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในจีนดีขึ้นมากแล้วครับ เราเริ่มได้เห็นผู้หญิงที่มีความสามารถได้เป็นเจ้าของธุรกิจพันล้าน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติก็มีผู้หญิงอยู่ไม่น้อย ถึงแม้จะยังไม่สามารถเปิดกว้างในเรื่อง LGBTQ+ ได้เหมือนอย่างในประเทศไทย แต่กาลเวลานั้นเดินไปข้างหน้า ไม่ช้าก็เร็วประเทศจีนก็จะต้องมีที่ยืนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างแน่นอน

สีจิ้นผิง ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ‘เติ้ง’ และ ‘เหมา’

“มหาอำนาจ” คือคำที่ใช้เรียกรัฐที่ถูกยอมรับว่ามีความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลได้ในระดับโลก ไม่มีหลักเกณฑ์หรือลักษณะจำกัดความของคำว่ามหาอำนาจ หากแต่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัด ขาดรอย ซึ่งตัดสินได้จากลักษณะเชิงประสบการณ์ในตัวผู้ประเมิน อันคุณสมบัติร่วมของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก คือการครอบครองอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ ตลอดจนอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการทูต

หากจะพูดถึงรัฐมหาอำนาจในปัจจุบันนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็มีจีนในยุค ‘สี จิ้นผิง’ นี่แหละครับ ที่กำลังมาแรงและมีโอกาสลุ้นแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกในอนาคต

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.macroviewblog.com

ต้องเกริ่นก่อนครับ ว่าสิ่งที่ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งก้าวขึ้นไปสู่การเป็นมหาอำนาจได้นั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงจำนวนและคุณภาพประชากร หากรัฐใดมีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน รัฐนั้นย่อมมีโอกาสในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แต่อีกปัจจัยใจที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ “ผู้นำที่ดี” หากรัฐใดอุดมไปด้วยทรัพยากรตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ ทรัพยากรที่มีมากไปก็ไร้ความหมาย

หากพูดถึงการเป็นผู้นำ (ทางการเมือง) ตามหลักการของ  Niccolo Machiavelli (ค.ศ. 1469-1527) ซึ่งเขียนตำราว่าด้วยผู้ปกครองที่ดี “The Prince” ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ข้อ ได้แก่ ปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลม กระบวนการคิดที่เป็นระบบ และความกล้าหาญ 

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.amazon.com

“ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติของสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ก้าวร้าว ห้าวหาญ และสง่างามเหมือนสิงโต แต่ชาญฉลาดและแยบยล เหมือนหมาป่า”

สำหรับประเทศจีน มีตัวอย่างผู้นำทางการเมืองมากมายที่น่ายกย่อง ตั้งแต่จักรพรรดิเฉียนหลง เจียชิ่ง จิ๋นซีฮ่องเต้ ซุนยัดเซ็น ประธานเหมา ตลอดจนเติ้งเสี่ยวผิง แต่ในวันนี้ เราจะมาพูดถึง ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำคนปัจจุบันของจีน ในแง่ของความเป็นผู้นำที่มีส่วนผสมของทั้ง ‘เหมาเจ๋อตง’ และ ‘เติ้งเสี่ยวผิง’

หากจะพูดถึงระบบการปกครองของจีนในปัจจุบัน ก็ต้องพูดถึงบุคคลที่เปรียบดั่งบิดาผู้ให้กำเนิดจีนยุคคอมมิวนิสต์หรือยุค “จีนใหม่” อย่างประธานเหมา หรือเหมาเจ๋อตง หนึ่งในสมาชิกยุคก่อตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีคนแรกในยุคสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ประธานเหมาเป็นผู้นำที่ทั้งห้าวหาญและสง่างาม ทั้งยังมีความคิดเฉียบแหลม โดยเฉพาะความสามารถในด้านของการบริหารอำนาจอันแสดงออกผ่านการตัดสินใจที่เด็ดขาด และให้แนวทางที่ชัดเจนต่อคนในชาติตั้งแต่ช่วงแรกของยุคจีนใหม่ ด้วยการเรียกร้องให้คนในชาติ “站起来 – จ้านฉี่หลาย” แปลว่า “จงลุกขึ้นยืน” หมายถึงการให้คนจีนร่วมกันยืนบนลำแข้งของตัวเองหลังจากถูกต่างชาติข่มเหงรังแกมาตลอดหลายร้อยปี

แต่กระนั้นการบริหารเศรษฐกิจของประธานเหมายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก อีกทั้งยังก่อความผิดพลาดอย่างมหันต์ในการริเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรมอันทำให้การพัฒนาของประเทศต้องหยุดชะงักไปนานถึง 10 ปี

คาแรคเตอร์ของประธานเหมานั้นอยู่คนละขั้วกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นที่สองอย่างเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำและนักปฏิบัตินิยมผู้มีความคิดเปิดกว้างพอที่จะลดความเข้มงวดในวิถีการปกครองด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม และใจกล้าพอที่จะปฏิรูปเปิดประเทศ รับระบบตลาดเสรีจากตะวันตกเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติจนทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” ในเวลาต่อมา

“富起来 - ฟู่ฉี่หลาย” มีความหมายประมาณว่า “สร้างเนื้อสร้างตัว” หลังจากคนจีนยืนบนลำแข้งตัวเองได้ตั้งแต่ในยุคของประธานเหมา ก็ถึงเวลาที่ประชาชนชาวจีนจะต้องลืมตาอ้าปาก หลุดพ้นจากความจน และกอบโกยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นมามีบทบาทบนเวทีการค้าโลก แต่หากจะพูดถึงข้อเสียของเติ้งนั้น ก็เห็นจะเป็นการที่เขาเลือกที่จะอะลุ่มอล่วยต่อพฤติกรรมคดโกงและการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ในพรรค

สำหรับ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำจีนในปัจจุบัน มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลยุทธ์การบริหารประเทศของสีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับเติ้งเสี่ยวผิง คือการยอมรับระบบตลาดแบบทุนนิยม แต่ยึดมั่นในอุดมการณ์หลักของความเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นการผสมผสานที่ถูกนิยามว่า “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีน”

ในส่วนของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หลังจากประธานสีขึ้นรับตำแหน่ง ก็ยึดเอายุทธศาสตร์ One Belt One Road เส้นทางสายไหมทางทะเล และใช้กลยุทธ์การเผยแพร่วัฒนธรรมด้วยการให้ทุนเรียนฟรีกับนักเรียนต่างชาติปีละหลักล้านคนจนเกิดเป็นกระแส “汉语热 - ฮั่นหยวี่เร่อ” ซึ่งเป็นกระแสที่นักเรียนทั่วโลกมีความต้องการมาศึกษาภาษาจีนที่ประเทศจีน โดยมีเป้าหมายในการใช้ภาษาจีนดำรงวิชาชีพหรือทำการค้าขายกับประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอัดฉีดเงินในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร และยังประกาศชัดเจนว่าจะนำประเทศจีนให้เป็นผู้นำ 5G และกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ของโลกในอนาคต

นั่นทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าวิธีการบริหารของสีจิ้นผิงนั้นเป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกับในยุคของผู้นำเติ้ง..

แต่ก็มิพักจะสงสัยว่า ตัวตนของสีจิ้นผิง แท้จริงแล้วมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้นำเติ้ง สังเกตได้จากการที่เขาบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมนิยม Marxist - Leninist ลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเยาวชน และปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ เวียดนาม และบรูไน รวมถึงการขัดขวางความพยายามของฮ่องกงและไต้หวันในการแบ่งแยกดินแดน เรียกได้ว่าแม้เพียงแค่ตารางนิ้วเดียวก็จะไม่ยอมให้สูญเสียไป

นอกจากนี้ สีจิ้นผิงมองว่าพฤติกรรมการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่พรรคนั้นถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งสิ่งที่อภัยไม่ได้ เขาใช้มาตรการในการกวาดล้างการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง มีข่าวการจับกุมและลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิดฐานคดโกงนับร้อยคดี จนการคอรัปชั่นกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมากในจีนปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ทำให้สีจิ้นผิงสามารถรวมศูนย์อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผ่านการลงมติรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติให้เป็น "ประธานาธิบดีตลอดชีวิต" และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ทำเอานักวิเคราะห์จากหลายสำนักเห็นตรงกันว่าสถานภาพของสีจิ้นผิง นับวันจะใกล้เคียงกับคำว่า “จักรพรรดิ” ขึ้นไปทุกที 

ในแง่ของการบริหารอำนาจ สีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับประธานเหมามากกว่าผู้นำเติ้ง....

อย่างไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นเหมาเจ๋อตงหรือเติ้งเสี่ยวผิง ทั้งคู่ต่างเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ที่หากไม่มีพวกเขา ก็คงจะไม่มีจีนวันนี้ ซึ่งตามทรรศนะของผู้เขียนเอง ผู้นำจีนคนปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิงนั้นคือการนำจุดเด่นของทั้งประธานเหมาและผู้นำเติ้งมารวมเป็นคนเดียวกัน กล่าวคือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “หยิน” กับ “หยาง” เป็นผู้นำแห่งแดนมังกรที่มีความเป็นสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน

“强起来 – เฉียงฉี่หลาย” 
แปลว่า “จงแข็งแกร่ง” เป็นเป้าหมายและปรัชญาในการบริหารบ้านเมืองของสีจิ้นผิง ในขณะเดียวกันก็เป็นวลีที่ใช้ปลุกระดมให้คนในชาติให้ร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การทูต และแสนยานุภาพทางทหาร อันเป็นสิ่งตอกย้ำชัดเจนในเป้าหมายละความทะเยอทยานของจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง หลังจากที่ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ และค่อย ๆ สร้างเนื้อสร้างตัวจนมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก้าวต่อไป จีนจะต้องเดินเกมเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแน่นอน

หากพิจารณาจากคุณสมบัติความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิงแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าเขาจะสามารถพาประเทศจีนขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจได้จริงหรือไม่ 


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอบคุณรูปภาพจาก : th.wikipedia.org
 

การประชุมจีน-สหรัฐฯ ความล้มเหลวในการเจรจา แต่สำเร็จในการแสดงจุดยืน

ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับความรักชาติของคนจีนลงเพจ The States Times เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผ่านไปไม่ทันไรก็ได้เห็นพฤติกรรมรักชาติของชาวจีนชัด ๆ ผ่านการประชุมของคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ และจีน ที่อาแลสกาในงานประชุม Alaska Summit เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2564 

หากใครสนใจและติดตามการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก็คงพอจะทราบว่าการประชุมดังกล่าวมิได้เป็นไปอย่างราบรื่นนัก เช่นเดียวกับสำนักข่าวทั่วโลก ที่ต่างพาดหัวด้วยถ้อยคำประมาณว่า “เวทีเดือด” หรือ “ที่ประชุมระอุ” เป็นต้น

การประชุมครั้งนี้ นับว่าเป็นการพบหน้าเจรจากันครั้งแรก ของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้งสองชาติมหาอำนาจ นับตั้งแต่ที่ ‘โจ ไบเดน’ ชนะเลือกตั้ง และขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา โดยฝั่งจีนนำโดย ‘นายหยาง เจียฉือ’ เจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของจีน และ ‘นายหวัง อี้’ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของจีน ส่วนฝ่ายสหรัฐฯ นั้นนำโดย ‘นายแอนโทนี บลิงแคน’ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ และ ‘นายเจค ซัลลิแวน’ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ

ว่ากันว่าที่ประชุมแห่งนี้แทบมิได้พูดถึงเรื่องปัญหาทางการค้า หากแต่เป็นการใช้วาจาเชือดเฉือน เสียดสี โจมตีนโยบายของอีกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา เริ่มต้นด้วยการกล่าวเปิดประชุมโดย นายแอนโทนี บลิงเคน ที่พูดถึงความกังวลของสหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรที่มีต่อการกระทำของประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกักขังชาวมุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมในฮ่องกง รวมถึงการข่มขู่ไต้หวัน โดยทางสหรัฐฯ ยังอ้างอีกว่าการกระทำของจีนนั้นถือว่า “ผิดกฎเกณฑ์พื้นฐานของโลก” (rules-based order) อันว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน

ชัดเจนมากครับ ว่าสหรัฐฯ มิได้มาเพื่อเจรจาการค้า...

หลังจากการกล่าวเปิดประชุมในระยะเวลาไม่กี่นาทีของนายบลิงเคนจบลง ด้านนายหยาง เจียฉี ไม่แสดงความอ่อนข้อแม้แต่น้อย เขาตอบโต้ด้วยสุนทรพจน์ความยาวกว่า 15 นาที โดยมีเนื้อหาโจมตีสหรัฐฯ ในหลายด้าน “เราหวังว่าสหรัฐฯ จะดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนได้ดีกว่านี้เช่นกัน ซึ่งความจริงแล้ว สหรัฐฯ เองก็มีปัญหามากมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ฝังลึกมานาน ไม่ใช่แค่ในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง Black lives matter”

นอกจากนี้ยังกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าใช้แสนยานุภาพทางทหาร และอำนาจทางการเงินครอบงำ และกดขี่ประเทศอื่น ๆ โดยใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงแห่งมาตุภูมิมาขัดขวางและแทรกแซงการค้า รวมถึงตั้งใจยุยงให้ประเทศอื่น ๆ โจมตีจีน นอกจากนี้นายหยางยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ เลิกยัดเยียดความเป็น “ประชาธิปไตยในแบบของสหรัฐฯ” เข้าไปยังประเทศอื่น ๆ เพราะไม่จำเป็นว่าแต่ละประเทศจะยอมรับค่านิยมของสหรัฐฯ เสมอไป 

“คุณพูดแทนสหรัฐอเมริกาได้ แต่อย่ามาอ้างว่าคุณพูดแทนคนทั้งโลก” นายหยางกล่าว และยังเตือนอีกว่า จีนจะคัดค้าน และขัดขืนอย่างหนักแน่นต่อการแทรกแซงกิจการภายในจีนโดยสหรัฐฯ

นับว่าดุเดือดมากครับ หลังจากช่วงของการกล่าวเปิดประชุมของทั้งสองฝ่ายได้จบลงแล้ว นักข่าวประจำสื่อต่าง ๆ เริ่มทยอยเดินออกจากห้องประชุม แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ นายบลิงเคน เรียกนักข่าวให้กลับเข้ามาในห้องประชุมเพื่ออยู่ถ่าย และอยู่ฟัง “การประชุม” ต่อ ซึ่งหลังจากนั้นก็กลายเป็นการอวดฝีมือวิชาการฑูตของทั้งสองฝ่าย ในการตอบโต้ โจมตีนโยบายของอีกฝ่าย ยาวไปจนกินเวลาถึงสองชั่วโมง

โดยประเด็นที่ฝ่ายสหรัฐฯ ใช้โจมตีจีน คือเรื่องการกระทำของจีนที่ขัดกับ Rules based order หรือกฎพื้นฐานของโลก (ที่คิดขึ้นมาโดยสหรัฐฯ ใช้ในโลกฝั่งเสรีนิยม และอิงตามหลักเสรีนิยมแบบสหรัฐฯ) การที่จีนจู่โจมสหรัฐฯ ทางไซเบอร์ (cyber-attack) และการบีบบังคับทางเศรษฐกิจที่จีนกระทำต่อประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ (เข้าใจว่าหมายถึงออสเตรเลีย) 

ในขณะที่จีน ก็โต้กลับว่า สิ่งที่จีนกระทำต่อชาวอุยกูร์ ฮ่องกง และไต้หวันถือว่าเป็นกิจการภายในประเทศ มิใช่กงการของสหรัฐฯ และกล่าวประโยคเด็ดประจำวันออกมาว่า 

“Let me say here that in front of the Chinese side, the United States does not have the qualification to say that it wants to speak to China from a position of strength.”

เป็นการประกาศจุดยืนของจีนอย่างชัดเจนว่าในตอนนี้ สหรัฐฯ ต้องแสดงความเคารพจีน และแสดงความจริงใจในการเจรจามากกว่านี้ และจะต้องเจรจากับจีนในฐานะที่เท่าเทียม เพราะจีนเองก็ไม่คิดว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่แข็งแกร่งและมีอำนาจเหมือนก่อนแล้ว ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุที่ทำให้สหรัฐฯ อ่อนลงไปบ้างจากวิกฤติการระบาดของ COVID19 และการสูญเสียพันธมิตรในช่วง 4 ปี ที่อดีตประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ยังดำรงตำแหน่งอยู่

การประชุมจบลงจริง ๆ ในวันต่อมา (20 มี.ค. 2564) ซึ่งโดยปกติแล้ว ธรรมเนียมการประชุมร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศ หลังจบการประชุมจะต้องมีภาพถ่ายการจับมือกันระหว่างทั้งสองฝ่าย มีการแถลงการณ์ร่วม และประกาศวันเวลาที่ทั้งสองฝ่ายตกลงจะประชุมร่วมกันในครั้งต่อไป แต่สำหรับการประชุม Alaska Summit ครั้งที่ผ่านมานั้น ไม่มีการปฏิบัติตามธรรมเนียมที่ผมได้กล่าวไปข้างต้นเลยครับ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจีนเดินสะบัดก้นออกจากที่ประชุมทันทีหลังจากการประชุมได้จบลง ซึ่งทำให้บรรยากาศของการประชุมครั้งนี้ก็ดี หรือความสัมพันธ์ในภาพรวมระหว่างจีนและสหรัฐฯ ก็ดี ดูจะดุเดือดเสียยิ่งกว่าในสมัยของนายทรัมป์ หรือในสมัยใดก็ตามในประวัติศาสตร์

เมื่อการประชุมจบลงด้วยภาพความขัดแย้งแบบนี้ ย่อมเป็นที่ถูกใจสำหรับหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังถูกจีนเดินเกมรุกทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง รวมถึงสร้างรอยยิ้มให้กับประเทศที่มีความขัดแย้งกับจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย อินเดีย หรือแม้กระทั่งกลุ่มประเทศใน EU ข้อนี้คงไม่สงสัยเลยครับ ว่าหากย้อนเวลากลับไปในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จีนคงอยากให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งมากกว่า

แต่ถึงสถานการณ์จะเป็นอย่างไร จีนยังคงแสดงท่าทีตั้งมั่นในความทะเยอทยาน ที่จะเป็นมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลก และไม่ยอมอ่อนข้อ หรือประณีประนอมต่อใครก็ตาม ที่เข้ามาคุกคาม และขัดขวางสิ่งที่เป็นความฝันร่วมกันของคนในชาติ

ในขณะที่นักวิเคราะห์ฝ่ายสหรัฐฯ มองว่าการหารือกันครั้งแรกระหว่างจีน และทีมบริหารของไบเดนก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะทีมของไบเดนนั้นไม่ได้ส่งสัญญาณว่าสนใจที่จะพูดถึงการค้าระหว่างกันตั้งแต่แรกแล้ว

การตัดสินแพ้ชนะในเกมนี้ ก็คงอยู่ที่ความสำเร็จในการรวมพันธมิตรของฝ่ายสหรัฐฯ ในการกดดันจีน ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วหลังจากที่สหรัฐฯ แคนนาดา อังกฤษ เยอรมัน ออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ ใน EU เห็นพ้องให้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร ต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 คนของรัฐบาลจีน เพื่อเป็นการลงโทษต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในเขตปกครองตนเองซินเจียง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของจีนมากน้อยแค่ไหน ทางการจีนจะมีนโยบายตอบโต้อย่างไรก็คงต้องรอดูกันไปครับ

แต่ที่แน่ ๆ ผมว่าการทะเลาะกันระหว่างสองชาติมหาอำนาจในครั้งนี้ ไม่ใช่สัญญาณที่ดีสำหรับตลาดและนักลงทุนทั่วโลก เรียกได้ว่าถ้าตีกันแรงก็จะต้องเจ็บหนักกันทั้งสองฝ่าย โดยในไม่ช้า ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องรวมถึงไทยเราเอง ก็จะต้องถูกกดดันให้เลือกฝ่าย

ถึงวันนั้นแล้วเราควรเลือกอยู่ข้างใครกัน ? หรือไม่เลือกเลยสักฝ่าย ? หรือเลือกอยู่กับทั้งสองฝ่ายไปเสียนั่นแหละ ? เดี๋ยวคงได้รู้กันครับ


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

ชาตินิยมจีน : ความรักชาติในแบบจีน ๆ เป็นอย่างไร ?

“ประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่ ผ่านยุคป่วยไข้ ไม่นานผ่านไป ทยานไกลสู่อนาคต”

‘ชาตินิยม’ (nationalism) หรืออุดมการณ์รักชาติที่ทำหน้าที่สร้างชาติในรูปแบบมโนทัศน์ รวมถึงแสดงอัตลักษณ์ของกลุ่มมนุษย์ที่เป็นคนในชาติ ไม่ว่าจะเป็นการรักชาติ ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของชาติ การนำเสนอสิ่งที่เป็นลักษณะเฉพาะและการชื่นชมความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคุณค่าและพื้นฐานของความเป็นชาตินิยม

หากว่ากันตามทฤษฎีข้างต้นนี้ ประเทศจีนนับว่าครบเครื่องครับ เพราะนับตั้งแต่จีนปฏิรูปเปิดประเทศในปี ค.ศ.1978 จนถึงปัจจุบัน ประเทศจีนได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังหลุดพ้นจากกับดักความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างค่ายทุนนิยมและสังคมนิยม

เพราะสำหรับ ‘เติ้ง เสี่ยวผิง’ ผู้นำจีนรุ่นถัดจาก ‘ประธานเหมา’ แล้ว ‘ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้ก็ถือว่าเป็นแมวที่ดี’ กล่าวคือ สิ่งสำคัญที่สุดนั้นคือชาติ และมันไม่สำคัญว่าจีนจะมีรูปแบบการปกครองแบบไหน (ทุนนิยมหรือสังคมนิยม) ขอแค่เป็นระบบการปกครองที่ทำให้จีนพัฒนาไปข้างหน้าก็ถือว่าเป็นระบบการปกครองที่ดี

หรือกล่าวง่าย ๆ ได้อีกว่า ทำยังไงก็ได้ให้ชาติจีนแข็งแกร่งโดยไม่เกี่ยงเรื่องวิธีการ เพื่อตอบสนองแนวคิดชาตินิยมที่ฝังรากลึกอยู่ในหัวใจชาวจีน กลายเป็นรากฐานความคิดชาตินิยมแบบจีน ๆ ในปัจจุบัน

สำหรับผม แนวคิดชาตินิยมจีนมีพื้นฐานและขั้นตอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วนครับ

1.) ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีต

2.) ความอับอายที่เคยถูกชาวต่างชาติกดขี่

3.) ความต้องการก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจบนเวทีโลกในอนาคต

ความภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีต

จีนเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์และอารยะธรรมที่สืบทอดกันมาอย่างเนิ่นนานหลายพันปี บรรพบุรุษหลายร้อยช่วงอายุคน ผ่านการปกครองระบบจักรพรรดิและฮ่องเต้มาทั้งหมดสิบราชวงศ์ มีปรมาจารย์นักคิดนักปราชญ์ชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็นขงจื๊อ เล่าจื๊อ เมิ่งจื๊อ หรือแม้กระทั่งซุนวู ซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางอารยะธรรมในอดีตเป็นสิ่งที่คนจีนภาคภูมิใจน่าดู ก็ดูอย่างชื่อประเทศจีนสิครับ ‘中国 - จงกว๋อ’ แปลตรงตัวได้ว่า ‘ดินแดนที่อยู่ศูนย์กลาง’ คนจีนสมัยก่อนเขาเชื่อจริง ๆ ครับว่าประเทศจีนคือศูนย์กลางของจักรวาล

ความอับอายที่เคยตกต่ำ รวมถึงเคยถูกชาวต่างชาติกดขี่ในอดีต

ถึงแม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็มีช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ถือได้ว่าเป็น ‘ยุคป่วยไข้’ เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่ยุคถดถอยของราชวงศ์ชิง การถูกชาวตะวันตกเข้ามา ‘มอมฝิ่น’ จนเกิดเป็น ‘สงครามฝิ่น’ ที่จีนพ่ายแพ้จนต้องเสียเกาะฮ่องกงไปเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นยุคที่เสื่อมโทรม เศรษฐกิจพังทลาย ประชาชนอยู่อย่างอดอยาก จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติประชาธิปไตยโดย ‘ก๊กมินตั๋ง’ หรือพรรคประชาธิปไตย ซึ่งก็ต้องมาขัดแย้งกับพรรคคอมมิวนิสต์ เกิดสงครามกลางเมือง มีการรบพุ่งกันระหว่างคนจีนกันเองอยู่หลายศึกหลายสนามรบ หลังจากนั้นไม่นานก็เข้าสู่ช่วงสงครามโลก จีนที่กำลังแย่อยู่แล้วก็ยิ่งเข้าขั้นโคม่า เมื่อถูกญี่ปุ่นเข้ารุกราน เกิดเหตุการณ์ ‘สังหารหมู่ที่นานกิง’ หรืออีกชื่อที่เรียกว่า ‘การข่มขืนนานกิง’

เมื่อฝ่ายอักษะพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม กองทัพญี่ปุ่นจึงจำต้องถอนทัพกลับประเทศไป ส่วนประเทศจีนก็ยังต้องผ่านการปฏิวัติซ้ำอีกหนึ่งหนโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ซึ่งก็ยังไม่ทำให้อะไรดีขึ้น มิหนำซ้ำยังเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมขึ้นอีก......

นี่แหละครับ ความขมขื่นของจีนที่เกิดจากการทะเลาะกันเองก็ดี ถูกต่างชาติเข้ามาเอาเปรียบก็ดี มันทำให้ชาวจีนในปัจจุบันจะไม่ค่อยไว้ใจชาวต่างชาติ (ไม่รวมไทย) โดยเฉพาะชาวตะวันตก เพราะมองว่าพวกเขาจ้องจะเข้ามาเอาเปรียบคนจีน ต้องระวังไว้

ความต้องการก้าวขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจบนเวทีโลกในอนาคต

จริง ๆ มันก็ย้อนแย้งอยู่นะครับ ภูมิใจในความยิ่งใหญ่ในอดีตและอับอายที่เคยถูกกดขี่ในเวลาเดียวกัน ซึ่งสองข้อข้างต้นที่กล่าวมานั้นทำให้เกิดเป็นข้อที่สาม คือเมื่อผ่านช่วงที่ตกต่ำมาได้ ก็อยากกลับขึ้นสู่จุดสูงสุดอีกครั้งหนึ่ง เป้าหมายของจีนวันนี้ชัดเจนมากครับ จีนต้องการแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก และมีความเป็นไปได้ว่าความต้องการนั้นจะกลายเป็นจริง

เมื่อไม่นานมานี้ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำสูงสุดแห่งแดนมังกรเพิ่งประกาศชัยชนะที่มีต่อความยากจน หลังจากคนจีนร่วม 100 ล้านชีวิตพ้นขีดความยากจนขั้นร้ายแรงในช่วง 7 ปีที่มีการวางนโยบายเพื่อต่อสู้กับความยากจนตั้งแต่ปี ค.ศ.2013 และล่าสุดก็เพิ่งมีประกาศโครงการใหม่ที่เรียกว่า 'Made in China 2025' จากที่เคยเป็นโรงงานของโลกสู่การเป็น ‘ศูนย์กลางการผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก’ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของจีนคือการก้าวเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งบนโลกยุคใหม่ภายในปี ค.ศ. 2049 ซึ่งจะเป็นเวลารอบ 100 ปีพอดีหลังจากการประกาศตั้งสาธารณะรัฐ

เห็นได้ชัดครับ ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คนจีนรุ่นก่อนได้ผ่าน เพิ่มเติมด้วยวิธการประชาสัมพันธ์และโฆษณาชวนเชื่อโดยภาครัฐ ทำให้คนจีนในปัจจุบันยังคงผูกพันกับคำว่า ‘ชาติ’ และพร้อมจะฉะกับใครก็ตามที่มาแหยมกับจีน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือแม้กระทั่งเหล่าพันธมิตรชานมไข่มุกเอง ก็ล้วนเคยถูกชาวเน็ตจีนด่ากราดกันมาแล้วทั้งนั้น

ชาตินิยมแบบจีนนั้นมีลักษณะเฉพาะตัวที่ทั้งชัดเจนและซับซ้อนในเวลาเดียวกัน การจะเข้าใจวิธีคิดแบบจีน ๆ ให้แตกฉานได้นั้นต้องย้อนมองอดีต ศึกษาปัจจุบัน และฝันในอนาคต

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ คือ แนวคิดชาตินิยมที่หลายคนว่าเป็นแนวคิดที่ล้าหลัง แต่ในตอนนี้มันกำลังพาจีนก้าวไปข้างหน้าใช่หรือไม่?

‘ความกตัญญู’ เป็นคุณธรรมข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน เป็นหลักปฏิบัติที่มีบทบาทสำคัญในการ ‘สร้างคนจีน’ และ ‘สร้างชาติจีน’ จนกลายเป็นชาติที่กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกยุคใหม่อย่างไร ?....

‘ความกตัญญู’ เป็นคุณธรรมข้อที่สำคัญที่สุดสำหรับชาวจีน เป็นหลักปฏิบัติที่มีบทบาทสำคัญในการ ‘สร้างคนจีน’ และ ‘สร้างชาติจีน’ จนกลายเป็นชาติที่กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทการเป็นอภิมหาอำนาจของโลกยุคใหม่อย่างไร ?....

การสร้างชาติ (Nation Building) หรือการสร้างรัฐ (State Building) คือกระบวนการสถาปนากฎระเบียบการปกครองโดยมีศูนย์กลางอำนาจ อันได้แก่รัฐบาลกลางซึ่งเป็นหน่วยการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอาณาเขตของรัฐชาติ มีอำนาจในการปกครองอาณาเขตและดูแลความเรียบร้อยของประชากรภายใต้กฎเกณฑ์ที่บัญญัติขึ้นโดยผู้มีอำนาจ รวมถึงสร้างระบบจัดเก็บภาษี และดำเนินนโยบายในการบริหารประเทศ

แต่การสร้างชาติที่ผมจะนำมาเล่าในบทความนี้ไม่ใช่การสร้างชาติในเชิงหลักการแบบรัฐศาสตร์จ๋า ๆ หรอกครับ แต่จะพูดถึงการสร้างชาติในที่แง่ของ ‘การสร้างคนในชาติ’ หรือการสร้างมาตรฐานให้กับ ‘ประชากร’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบหลักของรัฐชาติ (ประชากร ดินแดน รัฐบาล อำนาจอธิปไตย) เพื่อให้ประชากรในชาติมีความแข็งแกร่ง มีศักยภาพในการทำงานหนัก รวมถึงทำให้เกิดความรักใคร่สามัคคีกันระหว่างคนในชาติ ด้วยวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นทั้งวิถีปฏิบัติและอัตลักษณ์ที่บ่งลักษณะและตัวตนของแต่ละชาติ

สำหรับวัฒนธรรมและระบบจารีตของประเทศจีนในปัจจุบันนั้น หลักๆ แล้วจะยึดตามแนวคิดปรัชญาขงจื๊อที่ว่าด้วย ‘ทฤษฎีการปกครองประเทศให้มีความสงบสุข ทุกคนในชาติเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน’ โดยเนื้อหาสำคัญของปรัชญาขงจื๊อที่ชาวจีนยึดถือในปัจจุบันคือเรื่องคุณธรรมเช่น ความเมตตากรุณา ความกตัญญู ขนบจารีตประเพณี ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ ฯลฯ

โดยคุณธรรมข้อที่ชาวจีนให้ความสำคัญที่สุดคือ ‘ความกตัญญู’ ดังภาษิตจีนที่ว่า

“百善孝为先 - ไป๋ ซ่าน หลี่ เหวย เซียน”

“อันร้อยพันคุณธรรมทั้งปวง ความกตัญญูคืออันดับแรก”

เพราะความกตัญญูคือคุณธรรมที่เป็นรากฐานค้ำจุนประเทศ หากขุนนางกตัญญูต่อจักรพรรดิที่กตัญญูต่อแผ่นดิน เช่นเดียวกับทหารที่จงรักภักดีต่อแม่ทัพ ประหนึ่งบุตรที่กตัญญูต่อบิดามารดา ประเทศชาติย่อมเปี่ยมไปด้วยความสงบสุข สันติ และมั่นคง ซึ่งก็จะวนมาสอดคล้องกับแนวคิดขงจื๊อที่ว่า “ทุกคนในชาติเปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน”

หากเข้าใจตรงกันตามนี้ก็คงจะไม่แปลกใจหรอกครับ ที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ก็ดี จีนโพ้นทะเลก็ดี จะให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันเป็นตระกูล การใช้แซ่ (สกุล) นำหน้าชื่อเสมอ รวมถึงเผากระดาษหรือทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษทุกครั้งที่ถึงวันตรุษจีน สารทจีน และเทศกาลเชงเม้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้น คุณธรรมความกตัญญูในจีนเคยถูกด้อยค่าลงในยุค ‘ปฏิวัติวัฒนธรรม’ ในช่วงปีค.ศ.1966 - 1976 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ช่วงเวลาสิบปีที่สายสัมพันธ์ในครอบครัวชาวจีนเกิดความร้าวฉานมากที่สุด ด้วยแนวคิดปฏิวัติแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ – เหมาอิสต์ ที่เป็นกระแสแนวคิดใหม่ว่าด้วยสังคมอุดมคติที่มนุษย์ทุกคนต้องมีฐานะเท่าเทียมกัน เยาวชนถูกส่งเสริมให้ตั้งคำถาม จับผิด ตัดสิน และลงโทษบุพการี หากบุพการียังคงยึดถือจารีตเก่าที่โบราณคร่ำครึในสายตาของลัทธิคอมมิวนิสต์ เป็นบรรยากาศที่ไร้ซึ่งความรัก ปราศจากซึ่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างคนในครอบครัว

เมื่อยุคปฏิวัติผ่านพ้นไป คณะผู้บริหารชุดใหม่ขึ้นมาปกครองประเทศ เกิดการปฏิรูปเปิดประเทศ ภาครัฐดำเนินนโยบายค้าขายกับต่างประเทศเพื่อเพิ่มอัตราการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ และลดความเข้มงวดในการยึดหลักการสังคมนิยมซ้ายสุดโต่ง พร้อมทั้งนำศีลธรรมและจารีตเก่าบางประการกลับมาเป็นหลักปฏิบัติและเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของประชากรในช่วงเวลานั้น

ความกตัญญูถูกชุบชีวิตกลับขึ้นมาอีกครั้งผ่านการ Propaganda ด้วยคำโปรยผ่านสื่อ ไม่ว่าจะทางวิทยุก็ดี โทรทัศน์ก็ดี หรือแม้กระทั่งการนำคุณธรรมกตัญญูไปสร้างเป็นคอนเซปภาพยนตร์ เนื่องจากภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของคุณธรรมความกตัญญูว่าเป็น “แรงจูงใจ” ให้คนในชาติยึดถือคุณธรรมข้ออื่น ๆ กล่าวคือ เมื่อเรามีจิตคิดกตัญญู เราจะขยันหมั่นเพียรทำงานหนักเพื่อหาเงินเลี้ยงดูและตอบแทนบุญคุณของพ่อแม่ จะไม่กระทำการทุจริตใด ๆ ที่จะเป็นการบ่อนทำลายชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล กลับกัน เราจะอ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อแสดงให้ผู้อื่นรู้ว่าพ่อแม่ของเราอบรมบ่มเพาะเรามาเป็นอย่างดี สำหรับเยาวชนก็จะตั้งใจเรียน ตั้งใจสอบ เข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ

ซึ่งหากมองในมุมนักปกครอง ถ้าคนส่วนใหญ่ในชาติตั้งใจทำมาหากิน ตั้งใจเรียน ตั้งใจค้าขาย และตั้งใจบริหารกิจการ มันจะไม่ได้แค่หาเงินตอบแทนคุณหรือทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ แต่มันยังจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลผลิตมวลรวมให้กับประเทศอีกด้วย ข้อนี้สิครับ ประโยชน์ที่แท้จริงของความกตัญญู ฮ่าฮ่า....

พอจะมองออกบ้างแล้วใช่ไหมครับ ว่าคุณธรรมความกตัญญูมีส่วนในการสร้างคน และสร้างชาติจีนขึ้นมาอย่างไร

จนเมื่อเดือนมกราคมปี ค.ศ.2013 คุณธรรมความกตัญญูในจีนได้ถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้น โดยสภาประชาชนได้ประกาศใช้ ‘กฎหมายกตัญญู’ (李道法 - หลี่เต้าฝ่า) ว่าด้วยข้อบังคับสำหรับสมาชิกครอบครัวที่อาศัยอยู่ห่างจากบ้านเกิดที่มีผู้สูงอายุ ต้องเดินทางกลับบ้านมาเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ บริษัทและองค์กรต่างๆ ก็ต้องยินยอมให้พนักงานลางานกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่

ซึ่งข้อกฎหมายมิได้มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนว่าต้องกลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ปีละกี่หน ไม่กำหนดแม้กระทั่งโทษทางอาญาหากผู้ใดฝ่าฝืน แต่การวินิจฉัยทั้งหมดให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล ซึ่งเคยเกิดกรณีที่คุณแม่วัยชราท่านหนึ่งได้ฟ้องร้องลูก ๆ ของตนเองด้วยข้อหาทอดทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ยอมกลับบ้านมาดูแลอยู่เป็นเวลาหลายปี คดีความสิ้นสุดลงด้วยคำพิพากษาให้ลูกๆ จ่ายค่าบำรุงรักษา และกลับบ้านมาดูแลคุณแม่วัยชราทุก ๆ 2 เดือน ลองคิดดูสิครับ ว่ามันจะน่าอับอายแค่ไหน ถ้าเพื่อนร่วมงานของเรารู้ว่าเราถูกแม่ตัวเองฟ้องร้องในข้อหา ‘ทอดทิ้งมารดาให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว’

หากมองเผิน ๆ อาจรู้สึกว่า ‘กฎหมายกตัญญู’ ช่างเป็นกฎหมายที่พิลึกพิลั่น แต่จริงๆ กฎหมายข้อนี้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของรัฐบาลจีนในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ ทั้งในมิติสุขภาพจิต มิติเศรษฐกิจ และมิติสังคม ที่หลังจากประกาศใช้ก็เกิดกระแสการกลับบ้านไปหาพ่อแม่ในเทศกาลวันหยุด ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นานภาครัฐยังเพิ่งให้รางวัลและส่งเสริมให้คนทำงานล่วงเวลาในวันหยุด เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด แต่ทุกวันนี้เมื่อถึงช่วงเวลาก่อนจะเข้าสู่วันหยุดยาว สิ่งแรกที่เข้ามาในหัวชาวจีนคือการวางแผนเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว

ทั้งหมดที่ว่ามานี้คือเรื่องราวประวัติศาสตร์ของ “ความกตัญญู” อันมีส่วนไม่มากก็น้อยในการสร้างชาติจีนให้เกิดความสันติสุข มั่นคง และก้าวหน้า เป็นจารีตข้อสำคัญที่สุดที่ชาวจีนยังคงยึดถือมาจวบจนปัจจุบัน

ในวันที่จีนกำลังขยายฐานเศรษฐกิจ การค้าขาย และการเมืองจนกำลังจะขึ้นมาเป็นอภิมหาอำนาจในโลกยุคใหม่ คนจีนยังคงกตัญญู


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top